พระท่านอ้น สักการะ
พระท่านอ้น สักการะพระธาตุหริภุญชัย
วันที่ 11 พฤษภาคม 2568
พระท่านอ้น เดินทางมากราบสักการะพระธาตุหริภุญชัยพร้อมสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามจุดต่างๆ รวมทั้งเยี่ยมชมภายในวัดพระธาตุพระธาตุหริภุญชัย และจุดชมวิวต่างๆภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย
“พระธาตุหริภุญชัย” ตั้งอยู่ใจกลางเมืองลำพูนในวัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร เป็นพระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดลำพูน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวลำพูน และเป็นหนึ่งในพระธาตุสำคัญแห่งดินแดนล้านนา นอกจากนี้ยังเป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีระกา (ไก่) ตามคติความเชื่อของชาวล้านนา
ซึ่งพระธาตุหริภุญชัย สร้างขึ้นใน ปี พ.ศ. 1607 โดย พระเจ้าอาทิตยราชเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ประกอบด้วย ธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตรหนึ่ง
ตามตำนานพระธาตุหริภุญชัยกล่าวว่า ลักษณะขององค์พระธาตุที่สร้างแรกเริ่มเดิมทีเป็นไปตาม พุทธทำนาย คือ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงปราสาท สูง 12 ศอก (6 เมตร) มีซุ้มทวาร เข้า- ออกทะลุกันได้ทั้งสี่ด้าน มีปราสาทศิลาแลงสี่เหลี่ยมอยู่มุมละองค์
ครั้นเมื่อพญามังราย เข้ามายึดเมืองหริภุญชัยไว้ในครอบครอง ทรงโปรดให้บูรณะองค์พระธาตุหริภุญชัย ปรับปรุงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทห้ายอด ต่อมาในราวปี พ.ศ. 1990 (บางข้อมูลระบุปี พ.ศ. 1986) สมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งราชวงศ์มังราย โปรดให้บูรณะพระธาตุหริภุญชัยครั้งใหญ่ มีการปรับรูปทรงเป็นเจดีย์ดังรูปแบบที่เห็นในปัจจุบัน
พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดลำพูน
พระธาตุหริภุญชัย พระธาตุศักดิ์สิทธิ์สำคัญของจังหวัดลำพูน
พระธาตุหริภุญชัย
องค์พระธาตุหริภุญชัย ปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆัง (ทรงกลม) แบบล้านนาอันสวยงามสมส่วน หุ้มทองจังโกสีทองงดงามอร่ามตา อีกทั้งยังเป็นต้นแบบและมีอิทธิพลต่อพระธาตุเจดีย์องค์อื่นๆ อีกหลากหลาย อย่างเช่น พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็นต้น
ทุกๆ ปีในวันเพ็ญเดือนหกจะมีการจัดงาน “ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญชัย” โดยจะมีการอัญเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จาก“ดอยมะข้อ”มาเข้าร่วมการสรงน้ำตามธรรมเนียมปฏิบัติแต่โบราณ ซึ่งนอกจากชาวจังหวัดลำพูนแล้ว ก็ยังมีประชาชนคนไทยในจังหวัดต่างๆและชาวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
นอกจากพระธาตุหริภุญชัยที่เป็นศูนย์รวมใจของชาวลำพูนแล้ว วัดพระธาตุหริภุญชัยและบริเวณโดยรอบยังมีสิ่งน่าสนใจให้สักการะและเที่ยวชมกันอีกมากมาย
สองฟากฝั่งซุ้มประตูโขงท่าสิงห์ มี 2 สิงค์คู่สูงประมาณ 3 เมตร สีน้ำตาลอมแดงยืนเด่นงามสง่า ขนาบ 2 ข้างซ้าย-ขวา สิงห์คู่ 2 ตัวนี้ มีข้อมูลระบุว่า สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อปี พ.ศ.1990 คราวเดียวกับการบูรณะองค์พระธาตุครั้งสำคัญ ซุ้มประตู และสิงห์คู่ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญเมื่อปี พ.ศ. 2499
พระมหามุนีศรีหริภุญชัย พระพุทธรูปประธานในวิหารหลวง
พระมหามุนีศรีหริภุญชัย พระพุทธรูปประธานในวิหารหลวง
วิหารหลวง
เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูโขงเข้าเขตกำแพงวัดพระธาตุหริภุญชัย จะพบกับ “วิหารหลวง” ตั้งโดดเด่นอยู่บริเวณด้านหน้าขององค์พระธาตุหริภุญชัย ภายในวิหารหลวงประดิษฐาน “พระมหามุนีศรีหริภุญชัย” เป็นองค์พระพุทธรูปประธาน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ สีทองเหลืองอร่ามดูขรึมขลังเปี่ยมศรัทธา นับเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำพูนองค์สำคัญยิ่ง
นอกจากวิหารหลวง และองค์พระธาตุหริภุญชัย ที่เป็น 2 ไฮไลท์เด่นๆแล้ว ภายในเขตพุทธาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมีสิ่งน่าสนใจเด่นๆ ได้แก่ หอธรรม มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารปูน ชั้นบนเป็นสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ ประดับด้วยลวดลายฉลุไม้ลงรักปิดทองล่องชาดอย่างสวยงาม และมีหอระฆัง-กังสดาล เป็นอาคารปูนโล่ง 2 ชั้น ศิลปะหริภุญชัย ชั้นล่างแขวนกังสดาล ชั้นบนแขวนระฆังสำริดที่หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ผู้ครองเมืองลำพูน ในช่วง พ.ศ. 2414-2433
เจดีย์ปทุมวดี หรือ สุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมเช่นเดียวกับเจดีย์เหลี่ยมหรือกู่กุดวัดจามเทวี กับงานศิลปกรรมหริภุญชัยอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ตามประวัติเล่าว่าพระนางปทุมเจดีย์ อัครมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราชทรงสร้างเจดีย์องค์นี้พร้อมกับพระสวามีที่สร้างพระธาตุหริภุญชัย
สำหรับ เจดีย์ปทุมวดี เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมขนาดลดหลั่นกันไป 5 ชั้น ฐานเป็นศิลาแลง ตัวเรือนธาตุประดับซุ้มจระนำ ภายในซุ้มมีพระพุทธปางประทับยืนประทับอยู่ประดิษฐานอยู่ในซุ้มจระนำที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่เพียงบางส่วน ส่วนปลียอดมีสีทองเหลืองอร่าม
พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว
นอกจากนี้ภายในวัดยังมี “พิพิธภัณฑ์พระเมืองแก้ว” จัดแสดงโบราณวัตถุ และศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าต่างๆ ที่หาดูได้ยากมารวมไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ อาทิ สัตภัณฑ์ขนาดใหญ่,หีบธรรม, กลองหลวง, ขั้นบันไดแก้ว-คำ(ทอง)-เงิน และแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นต้น
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น