ศุลกากรเตือนอย่าหลงเชื่อ
ศุลกากรเตือนอย่าหลงเชื่อรับหิ้วของข้ามประเทศ
วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2567) นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี
ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า - ส่งออก นำผ่าน และจำหน่ายยาเสพติด เพี่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน กระทรวงการคลัง โดย นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวดขัน
ในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามการลักลอบนำเข้ามาในและส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งยาเสพติดในทุกช่องทาง เพื่อปกป้องสังคมไทย
จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางการข่าวและการแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการป้องกันการลักลอบขนยาเสพติดกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศพบว่ามีการตรวจยึดจับกุมช่อดอกกัญชาโดยมีต้นทางจากประเทศไทยจำนวนมากในช่วงปี 2567 กรมศุลกากรจึงได้ร่วมกับชุดปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task Force : AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช. ปส.) เฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบการลักลอบส่งออก – นำเข้ากัญชาผ่านท่าอากาศยานอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 พบชายชาวมาเลเซีย ลักลอบนำช่อดอกกัญชา น้ำหนักประมาณ 19 กิโลกรัม ซุกซ่อนในกระเป๋าสัมภาระซึ่งจะเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย
ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ ปลายทางประเทศอิตาลี ต่อมา เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567 พบชายและหญิง
ชาวมาเลเซีย ลักลอบนำช่อดอกกัญชา น้ำหนักประมาณ 70 กิโลกรัม ซุกซ่อนในกระเป๋าสัมภาระ 4 ใบ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีเส้นทางการเดินทางจากประเทศไทย ไปยังสาธารณรัฐสิงคโปร์ ปลายทางประเทศอังกฤษ
รวมน้ำหนักช่อดอกกัญชาจากผู้ต้องหาทั้ง 2 กรณี ประมาณ 89 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 890,000 บาท ซึ่งหากลักลอบส่งออกยังประเทศในแถบทวีปยุโรปสำเร็จ ราคาจะสูงถึงกิโลกรัมละ 10,000 ปอนด์ หรือประมาณ 39 ล้านบาท โดยจากการสอบปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้น ได้ข้อมูลว่า ผู้ต้องหารายแรก จะเดินทางไปยังประเทศอิตาลี โดยมีเพื่อนให้มาขนรังนกจากประเทศไทยไปยังประเทศอิตาลี เสนอที่จะออกเงินค่าท่องเที่ยวที่ประเทศอิตาลีให้ ส่วนผู้ต้องหารายที่ 2 และ 3 มีเพื่อนในอินเตอร์เน็ตชักชวนเดินทางไปประเทศอังกฤษ โดยให้แวะรับของที่ประเทศไทย และจะดูแลเรื่องการท่องเที่ยวที่ประเทศอังกฤษให้ เช่นกัน
การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามนำออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ประกาศ ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 โดยช่อดอกกัญชาเป็นของต้องกำกัดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565
โดยที่ผ่านมากรมศุลกากรให้ความสำคัญกับการจับกุมการลักลอบนำเข้า – ส่งออกกัญชา
ในทุกช่องทาง มีสถิติในการจับกุมกัญชา ช่อดอกกัญชา ต้นกัญชา น้ำมันกัญชา ยางกัญชาและเมล็ดกัญชา
ในปีงบประมาณ 2567 จับกุมได้ 462 คดี ปริมาณ 3,094 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 30.94 ล้านบาท
และในปีงบประมาณ 2568 (1 ตุลาคม 2567 – 4 พฤศจิกายน 2567) จับกุมได้ 43 คดี ปริมาณ 234.70 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 2.347 ล้านบาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ในปัจจุบันพบว่ามีการหลอกลวงให้ประชาชนนำสิ่งของออกไป
นอกราชอาณาจักรโดยจะให้ค่าตอบแทน โดยไม่ทราบว่าของดังกล่าวอาจมียาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่
กรมศุลกากรจึงขอเตือนประชาชน อย่าตกเป็นเหยื่อของขบวนการลักลอบขนยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย
โดยไม่หลงเชื่อคำชักชวนที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น การชักชวนไปท่องเที่ยวต่างประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่ควรรับฝากสิ่งของจากบุคคลอื่นโดยเด็ดขาด แม้ว่าจะตรวจสอบสิ่งของในสัมภาระแล้วก็ตาม เพราะขบวนการลักลอบขนยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมายมีความเชี่ยวชาญในการซุกซ่อนเป็นอย่างดี หากมีการตรวจสอบพบยาเสพติด
หรือสิ่งผิดกฎหมายท่านก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น