'ดร.หิมาลัย' เปิดงาน'มายาธิปไตย 2475'
ถกเถียงบนข้อเท็จจริง!!'ดร.หิมาลัย' เปิดงาน'มายาธิปไตย 2475 เทสที่สร้างร่างที่เป็น' สะท้อนอีกแง่มุมประวัติศาสตร์ 2475 ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้
วันที่ 6 ส.ค.2567 ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้อำนวยการพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นประธานการเปิดกิจกรรมเสวนา 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' และรับชมภาพยนตร์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีตัวแทนจากพรรครวมไทยสร้างชาติอาทิ ว่าที่ ร.ต.อ.หญิง อัยรดา บำรุงรักษ์ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ นายภัทรพล แก้วสกุณี อดีตผู้สมัคร สส.เขต 6 จ.ปทุมธานี พรรครวมไทยสร้างชาติ น.ส.พัชรนันท์ โกศลสมบัตินนท์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.พรรครวมไทยสร้างชาติ นายอิทธิพัทธ์ เศรษฐยุกานนท์ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.พรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมด้วย ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนักศึกษาประชาชนร่วมงานจำนวนมาก
โดย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ได้กล่าวเปิดงานว่า วันนี้เราจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องราวเหล่านี้ ทั้งจากมุมมองของนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนี้
"เรามาร่วมไขความจริงกันอีกครั้งว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 นั้น เป็นความหวังในการสร้างระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อย ที่มองว่าเป็นเพียงภาพลวงตาหรือความฝันที่ไม่สามารถตอบโจทย์การเมืองการปกครองของสังคมไทยได้อย่างแท้จริง หวังว่าการเสวนาครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเส้นทางแห่งประชาธิปไตยของไทย ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถนำไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ของสังคมและการเมืองของเราต่อไป"
สำหรับการเสวนาในหัวข้อ 'มายาธิปไตย 2475 #เทสที่สร้างร่างที่เป็น' นั้นได้มีวิทยากรร่วมในการบรรยายจำนวน 5 ท่าน ซึ่งล้วนแต่แสดงความคิดเห็นในหลากหลายแง่มุม ได้แก่ นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้พูดถึงวัตถุประสงค์ของการดำเนินการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันด้านประวัติศาสตร์ และยังแก้ไขความเข้าใจผิดให้กับบุคคลในประวัติศาสตร์ รวมถึงความพยายามที่จะถ่ายทอดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ที่ผ่านการศึกษาและค้นคว้าแจกแหล่งข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือและบิดเบือน
ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้กล่าวถึงความสำคัญในการจัดการกับประวัติศาสตร์ที่จะทำให้ชี้นำอนาคตของสังคมได้ จึงมีการพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์ผ่านการให้ความจริงเพียงครึ่งเดียวในฐานะประชาชนจะต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างรอบด้าน และในอีกด้านหนึ่งบรรดาผู้ก่อการต่างยอมรับความผิดพลาดของตนเองที่ก่อในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นสามารถนำมาเป็นบทเรียนในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความแตกแยก แม้จะมีอุดมการณ์และความเห็นต่างทางการเมืองของแต่ละกลุ่มบุคคลก็ตาม
ด้านนายจิตรากร ตันโห นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อสังเกตถึงการพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองของรัชกาลที่ 7 ที่พยายามประนีประนอมกับทุกกลุ่มอำนาจในสังคม และไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรแต่อย่างใด รวมการตั้งข้อสังเกตว่าเพราะเหตุใดในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงได้ทรงร่างรัฐธรรมนูญไว้ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติในปี 2475 อีกด้วย
ขณะที่ นางสาวปัณฑา สิริกุล ผู้เขียนบทภาพยนตร์แอนิเมชัน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ได้เล่าถึงเส้นเรื่องของประวัติศาสตร์และตั้งข้อสังเกตถึงบางช่วงบางตอนของประวัติศาสตร์ที่ไม่ปรากฏในตำราและหนังสือใดๆ โดยเฉพาะการฉ้อโกง และดำเนินคดีกับผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะราษฎร ประกอบกับการนำข้อมูลของศาลพิเศษของหลวงพิบูลสงครามมาเป็นข้อมูลประกอบในหนังสือซึ่งขาดความน่าเชื่อถือ เพราะจากการสืบค้นและตรวจสอบข้อมูลพบว่า การให้การภายในศาลพิเศษนั้น ล้วนเต็มไปด้วยคำให้การเท็จเป็นจำนวนมาก และนายฤกษ์อารี นานา อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครวมไทยสร้างชาติและอดีตนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ได้ให้ข้อสังเกตถึงการปฏิวัติของประเทศฝรั่งเศสหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้เริ่มต้นจากที่ประชาชนต้องการล้มล้างระบอบกษัตริย์ แต่มาจากการเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาความอดอยากเรียกร้องให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งหลายปัจจัยนำไปสู่การล้มล้างระบอบกษัตริย์ที่สุด และต้องใช้ระยะเวลานานนับร้อยปีหลังการปฏิวัติประเทศถึงเป็นรูปเป็นร่างอย่างทุกวันนี้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น