ตร. เตือน 8 สิ่งต้องระวัง

ตร. เตือน 8 สิ่งต้องระวัง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567

วันนี้ (12 เมษายน 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. รักษาราชการแทน ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร ตลอดจนความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนเกี่ยวกับ 8 สิ่งต้องระวัง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนี้

1. “สภาพของคนและยานพาหนะในการเดินทาง” ก่อนเดินทางควรพักผ่อนให้เพียงพอ ศึกษาเส้นทางในการเดินทาง รวมถึงตำแหน่งสถานีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในเส้นทาง และควรตรวจเช็คสภาพรถให้มีความพร้อมในการขับขี่ โดยเฉพาะระบบห้ามล้อ ยาง และไฟส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยในการขับขี่

2. “การขับขี่รถจักรยานยนต์” ควรสวมใส่หมวกนิรภัยตลอดเวลาที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ ทั้งคนขับและคนซ้อน เมื่อขับขี่มาถึงบริเวณที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ ควรขับขี่ด้วยความเร็วคงที่ ไม่เบรกกะทันหัน เพราะอาจทำให้รถจักรยานยนต์เสียหลัก หรือรถที่ขับขี่ตามหลังหยุดไม่ทัน และควรใช้มือทั้งสองข้างจับแฮนด์รถจักรยานยนต์ไว้ให้มั่น

3. “ไม่ขับขี่ขณะเมาสุรา” เพราะอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหากขับขี่ขณะเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุจนผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 43(2) ประกอบมาตรา 160 ตรี วรรคสี่

4. “ไม่โพสต์ภาพเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมข้อความชักชวน” เพราะการโพสต์ในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 ประกอบมาตรา 43

5. “ไม่โพสต์ภาพวาบหวิวหรือภาพลามก” เพราะเข้าข่ายเป็นความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14(4)

6. “การถูกทำอนาจารหรือคุกคามทางเพศ” เพราะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พี่น้องประชาชนมักจะออกมาเล่นน้ำสงกรานต์ตามสถานที่ที่มีการจัดกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ไม่หวังดีอาจอาศัยจังหวะที่คนหนาแน่น เข้ามาทำอนาจารหรือคุกคามทางเพศได้ โดยเฉพาะผู้ที่แต่งกายวาบหวิว จะต้องระวังตัวเป็นพิเศษ

7. “การถูกลักทรัพย์” เนื่องจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มักเดินทางกลับภูมิลำเนาที่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีคนอาศัยอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดี ใช้โอกาสนี้เข้าไปลักทรัพย์ จึงควรที่จะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือเข้าร่วมโครงการ “ฝากบ้าน 4.0” เพื่อยกระดับความปลอดภัย นอกจากนี้ ไม่ควรนำทรัพย์สินมีค่าติดตัวไปเล่นน้ำสงกรานต์ เพราะอาจเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพได้

8. “อุบัติเหตุจากการเล่นน้ำ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเด็กและเยาวชนในการเล่นน้ำสงกรานต์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นน้ำท้ายรถกระบะ การลงไปว่ายน้ำในลำคลอง การสาดน้ำหรือฉีดน้ำใส่รถจักรยานยนต์ ซึ่งล้วนแล้วแต่นำมาสู่อุบัติเหตุซึ่งอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้ พี่น้องประชาชนจึงควรใช้ความระมัดระวังในการเล่นน้ำสงกรานต์ และควรดูแลบุตรหลานอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนต้องการแจ้งเหตุ ขอความช่วยเหลือ สามารถโทรศัพท์มาที่ สายด่วน 191 หรือสายด่วนตำรวจทางหลวง 1193 หรือในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ สายด่วนกองบังคับการตำรวจจราจร 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7