ตม.1ปราบปรามคนต่างด้าว
ตม.1ปราบปรามคนต่างด้าวลอบทำงานต้องห้าม แย่งอาชีพคนไทยย่านประตูน้ำ บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบคนต่างด้าวผิดกฎหมาย 13 ราย
พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. รับนโยบาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดยกระดับการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม โดยให้มีการระดมกวาดล้างอาชญากรรม โดยเฉพาะความผิดที่เกี่ยวกับคนเข้าเมือง และความผิดเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าวในลักษณะงานต้องห้ามหรือลักษณะแย่งอาชีพคนไทยซึ่ง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างและอยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชน โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่รับผิดชอบงานสืบสวน เน้นการบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2567 พล.ต.ต.ประสาธน์ เขมะประสิทธิ์ ผบก.ตม.1 ได้มอบหมายให้ พ.ต.อ.กาจภณ ปฐมัง ผกก.สืบสวน บก.ตม.1 นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองในสังกัด กก.สืบสวน บก.ตม.1 สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่จากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และ สน.พญาไท กว่า 20 นาย ประชุมวางแผนเพื่อเข้าตรวจสอบบุคคลต่างด้าวหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็น กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนาม ที่ลักลอบเร่ขายสินค้า และขายของหน้าร้าน ในลักษณะไม่มีนายจ้างเป็นคนไทยแต่เป็นการกระทำด้วยตนเอง อยู่บริเวณจุดต่างๆ ในย่านประตูน้ำ ใกล้โรงแรมแห่งหนึ่งในเขตราชเทวี กทม. ซึ่งได้รับการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสจากประชาชน ทั้งทางช่องทางสื่อกระแสหลัก และโซเชียลมีเดีย
กระทั่ง เวลาประมาณ 18.30 น. ของวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ได้กระจายกำลังเข้าตรวจสอบตามจุดต่างๆ ตามที่ได้สำรวจเป้าหมายไว้ ระหว่างตรวจสอบกลุ่มคนต่างด้าว ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย และกลุ่มที่มีเอกสารถูกต้อง แต่ทำงาน ในลักษณะผิดเงื่อนไขหรืองานต้องห้ามโดยเฉพาะงานเร่ขายสินค้าและงานขายของหน้าร้าน ปฏิบัติการดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ สามารถควบคุมตัวคนต่างด้าวไว้ได้จำนวนทั้งสิ้น 13 คน มาตรวจสอบจำแนกโดยละเอียดอีกครั้งโดยใช้รถบรรทุกควบคุมผู้ต้องหาที่เจ้าหน้าที่ได้เตรียมไว้
ผลการตรวจสอบโดยละเอียดพบว่าส่วนใหญ่เป็น บุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมา 12 คน สัญชาติลาว 1 คน
แบ่งเป็นความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย” 5 คน และ ความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวทำงานนอกเหนือสิทธิ์ที่จะกระทำได้ 8 คน ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท ดำเนินคดี และผลักดันออกนอกราชอาณาจักรต่อไป
อนึ่ง สตม.ขอประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทุกท่านทราบว่า บุคคลต่างด้าวทุกสัญชาติที่เข้ามาในราชอาณาจักร นอกจากจะต้องเข้ามาตามช่องทางอนุญาตตามกฎหมายและได้รับการตรวจลงตราโดยถูกต้องแล้ว ยังมีหน้าที่ที่จะต้องแจ้งที่พักอาศัยต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองตามมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และหากประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตทำงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีโทษปรับสูงสุดถึง 100,000 บาท ในส่วนของเจ้าของบ้านหรือผู้ครอบครองเคหสถานยังมีหน้าที่ในการแจ้งต่อ สตม. เมื่อมีบุคคลต่างด้าวเข้ามาพักอาศัยในสถานที่ที่อยู่ในความดูแลของตน ซึ่ง สตม. จะมีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามคนต่างด้าวที่เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ทั้งนี้หากผู้ใดให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ ให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการจับกุมของเจ้าหน้าที่ จะมีความผิดตามมาตรา 64 ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแส การกระทำความผิด กรุณาแจ้งมายัง หมายเลขโทรศัพท์ 1178 จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น