ศอ.บต. หารือทุกภาคส่วน

ศอ.บต. หารือทุกภาคส่วน พร้อมฟังข้อเสนอเพื่อหาแนวทางร่วมในการผลักดันนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ตามนโยบาย Soft Power หวังสร้างโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการพัฒนาแนวทางการเลี้ยงนกกรงหัวจุกอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่า 

วันนี้ (16 ธ.ค. 66) นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุมหารือและรับฟังความเห็นแนวทางการผลักดันนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) เป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยมี นายมีศักดิ์ แก้วกูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์พื้นที่ 6 สงขลา ผศ.ดร.สาระ ศรีบำรุง อาจารย์ประจำหลักสูตรชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ตัวแทนชมรมนกกรงหัวจุก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา จ.ปัตตานี จ.นราธิวาส จ.สงขลา และ จ.สตูล) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. และ สำนักบริหารอนุรักษ์พื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 และสาขาย่อยปัตตานี เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 122 อาคาร 1 คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. 

การประชุมหารือในวันนี้ สืบเนื่องจากทางชมรมผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุก ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สะท้อนว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงที่ครอบครองนกกรงหัวจุกที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนรับอนุญาตเป็นจำนวนมาก เนื่องจากนกกรงหัวจุกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า ครอบครอง จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

จึงมีข้อเสนอให้มีนโยบายปลดล็อคออกจากบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยยกกรณีเทียบเคียงเดียวกับนกเขาชวาเสียง ที่เมื่อปลดล็อคจากสัตว์คุ้มครองแล้ว ก็ทำให้มีการขยายตัวของผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยที่ไม่ได้ทำให้สูญพันธุ์แต่อย่างใด ในกรณีนกกรงหัวจุกเช่นเดียวกัน ที่ปัจจุบันนั้นรอยละ 90 ของเลี้ยงหรือขาย ล้วนเป็นนกที่มาจากฟาร์มเพาะทั้งสิ้น มิได้เป็นการสุ่มจับนกป่าอย่างในอดีตเมื่อ 30 ปี ที่แล้ว เพราะจะได้สายพันธุ์ที่ดีกว่า เสียงดีกว่า รูปร่างดีกว่า เนื่องจากฟาร์มเพาะพันธุ์ปัจจุบัน มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการหาพ่อ-แม่พันธุ์ดี มาผสมให้ได้พันธุ์ที่ดี และท้ายที่สุดก็จะลดจำนวนของการจับนกป่าไปในที่สุด นอกจากนี้ทางชมรมฯ ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ผู้เลี้ยงให้ขึ้นทะเบียน เนื่องจากจะเป็นช่องว่างให้มีการจับนกป่าสวมสิทธิ์มาขึ้นทะเบียน และที่สำคัญแม้ว่าเมื่อมีการนิรโทษกรรมแล้วจะมีการขึ้นทะเบียนทุกตัว ก็ไม่สามารถเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด นำเข้าหรือนำออกนอกประเทศไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถผลักดันในการจัดการแข่งขัน ซื้อ-ขาย ระหว่างจังหวัด ภูมิภาค และระหว่างประเทศได้ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับนโยบาย Soft Power ในการผลักดันส่งเสริมสัตว์เศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

ชมรมฯ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงนกกรงหัวจุกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างห่วงโซ่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในหลายด้าน เช่น ด้านรายได้ นกกรงหัวจุกเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงได้อย่างสูง โดยราคานกกรงหัวจุกในตลาดซื้อขายมีตั้งแต่หลักพันบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และคุณภาพของนก เกษตรกรผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่มีรายได้จากการเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นหลัก สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีประมาณณ 100,000-200,000 บาท ด้านการสร้างงาน การเลี้ยงนกกรงหัวจุกทำให้เกิดการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ผู้เพาะพันธุ์นก พ่อค้าคนกลาง ผู้ผลิตและจำหน่ายกรงนก อาหารนก อุปกรณ์ตกแต่งกรงนก เป็นต้น ก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนมาก และด้านการท่องเที่ยว การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการจัดงานประกวดนกกรงหัวจุกเป็นประจำทุกปี ซึ่งช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นเข้ามาในพื้นที่

สำหรับเวทีในวันนี้ รับฟังความคิดเห็นทั้งทางชมรมผู้เลี้ยงนก กลุ่มที่มีความต้องการให้อนุรักษ์ กลุ่มนักวิชาการ โดยข้อสรุปในเบื้องต้น ภายหลังจากการประชุมวันนี้ ให้ทุกภาคส่วนของการประชุมในวันนี้ร่วมกันวางแผน และกำหนดกรอบระยะเวลาของการทำงาน 6 เดือน เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง นำมาวิเคราะห์ ในทุกมิติ โดยอาศัยข้อมูลทางวิชาการที่ให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ให้มีความชัดเจนครบถ้วน เพื่อนำข้อเสนอไปสู่ผลักดันเชิงนโยบายโดยเร็วต่อไป พร้อมกันนี้ ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายวิชาการตัวแทนจากฝ่ายรัฐและตัวแทนจากภาคประชาชนทุกภาคส่วนจะได้ร่วมกันจัดตั้งชมรมนกกรงหัวจุกจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเสนอให้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการ ผลักดันนกกรงหัวจุกไปสู่ Soft Power ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการทั้งระบบตั้งแต่ต้นทางคือการได้มาซึ่งนกกรงหัวจุกการเพาะและขยายพันธุ์ ที่จะนำไปสู่ ความมั่นใจได้ว่า จะไม่มีการนำ นกกรงหัวจุกจากธรรมชาติ จากป่า มาสู่การเลี้ยงซึ่งในส่วนนี้ทางชมรมได้มีมาตรการและหรือจัดเตรียมมาตรการเพื่อการลงโทษผู้นำนกกรงหัวจุกออกจากป่ามาขั้นเด็ดขาด รวมทั้งการวางมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดหาอาหาร เพื่อเลี้ยงนก จำพวกกล้วยหิน หนอน หรือพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ การสร้างหัตถกรรมพื้นบ้านโดยใช้ลวดลายอัตลักษณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นศิลปะบนกรงนก อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับนก รวมไปถึง การจำหน่าย การจัดงานนกประจำปี ซึ่งตั้งความหวังว่ารัฐบาลนี้จะส่งเสริมให้เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติที่เป็นสากลในทุก ๆ ปีต่อไปได้

โยธิน ประชามติรัฐ/ข่าว
อับดุลมานะ ดอฆอ/ภาพ
อ.เบตง จ.ยะลา รายงาน

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ