กรมศุลฯสกัดกั้นยาเสพติด

กรมศุลกากรสกัดกั้นยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง พร้อมป้องกันปราบปรามการลักลอบนำเข้า - ส่งออก ยางเถื่อน

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 
มีนโยบายให้แก้ปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน กรมศุลกากรจึงเพิ่มมาตรการติดตามและเฝ้าระวังการลักลอบขนส่งยาเสพติดผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งการขนส่งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายด้านยาเสพติดของรัฐบาล และจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการลักลอบขนส่งยาเสพติดระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่ผู้กระทำความผิดจะเปลี่ยนวิธีการขนส่งยาเสพติดผ่านทางพัสดุไปรษณีย์ จากเดิมที่มีการขนส่งจำนวนครั้งละมาก ๆ ต่อการส่งหนึ่งครั้ง เป็นการทยอยส่งยาเสพติดจำนวนน้อยลง เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ 

โดยเมื่อวันที่  17 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการลักลอบส่งของต้องห้าม ต้องจำกัด ออกนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ 
โดยได้ทำการตรวจสอบพัสดุด่วนพิเศษระหว่างประเทศ ปลายทางประเทศออสเตรเลีย สำแดงชนิดสินค้าเป็น ‘Picture’ จำนวน 1 หีบห่อ น้ำหนักรวม 1.364 กิโลกรัม ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ซุกซ่อนอยู่ในผนังกล่องกระดาษ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 575 กรัม มูลค่า 1.725 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 244 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด 

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ร่วมกับชุดปฏิบัติการ AITF (AIRPORT INTERDICTION TASK FORCE) ร่วมกันตรวจสอบสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้า ที่สำแดงชนิดสินค้าเป็น‘หินขัดมันหิมาไคต์’ (HANDICRAFTS MALCHITE) จำนวน 4 กล่อง จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ตรวจสอบพบยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน (โคเคน) ซุกซ่อนอยู่ภายในหินขัดมันหิมาไคต์ น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,227 กรัม มูลค่า 9.68 ล้านบาท จึงได้ร่วมกันตรวจยึดของดังกล่าวไว้เป็นของกลางเพื่อทำการขยายผลการจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป กระทั่งในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ AITF สามารถจับกุมหญิงชาวไทย ซึ่งเป็นผู้รับพัสดุ ได้ที่บริเวณบ้านพักแห่งหนึ่งในตำบลขวัญเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และทำการขยายผลต่อเนื่องเพื่อนำไปสู่การจับกุมผู้ร่วมขบวนการอีก 1 ราย เป็นชายชาวไนจีเรียน โดยสามารถจับกุมได้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ณ อพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่ง ในตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมและนำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน ร่วมกันนำยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน (โคเคน) เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามมาตรา 244 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด 

จากนั้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ เจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการขนส่งยาเสพติด โดยร่วมกันตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์ผ่านแดนระหว่างประเทศ ประเภทพัสดุไปรษณีย์ทางอากาศ ต้นทางจากประเทศแคนาดา ปลายทางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) จำนวน 1 หีบห่อ ตรวจพบถุงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน จำนวน 2 ถุง ภายในมีถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของ ลักษณะเป็นผงสีขาว ปะปนมากับผงเวย์โปรตีน เจ้าหน้าที่จึงนำตัวอย่างไปทดสอบด้วยน้ำยา COBALT THIOCYANATE REAGENT จากผลการทดสอบพบว่า เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน (โคเคน) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 2,028 กรัม มูลค่า 6 ล้านบาท กรณีดังกล่าวเป็นการนำของต้องห้ามเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อการผ่านแดน อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 60  และมาตรา 61  แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด 

ในวันเดียวกันนี้ (21 พฤศจิกายน 2566) เจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ตรวจสอบใบคำร้องส่งของเร่งด่วนขาออก (Urgently Request) ปลายทางประเทศฮ่องกง สำแดงชนิดสินค้าเป็น ‘Picture with frame’ น้ำหนัก 9.50 กิโลกรัม จำนวน 1 กล่อง ภายในตรวจพบวัตถุต้องสงสัยมีลักษณะเป็นผงสีขาวห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกจำนวน 20 ก้อน จึงได้ทำการทดสอบ
ด้วยชุดทดสอบยาเสพติด Marquis Reagent และเครื่อง Handheld Raman Spectrometer แสดงผลเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,590 กรัม มูลค่า 10.77 ล้านบาท หากส่งออกสำเร็จจะมีมูลค่าปลายทางประมาณ 96 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็น การพยายามลักลอบส่งยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน (Heroine) ออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 244 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร 
พ.ศ. 2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด 

สำหรับสถิติการจับกุมยาเสพติดของกรมศุลกากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2566 –  22 พฤศจิกายน 2566) มีจำนวน 26 ราย มูลค่ารวมประมาณ 156.45 ล้านบาท 

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้แล้วกรมศุลกากรยังขานรับนโยบายนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการเพิ่มความเข้มงวดป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้า - ส่งออกยางพารา โดยที่ผ่านมามีการลักลอบนำเข้า – ส่งออก ตามแนวตะเข็บชายแดน  ซึ่งเป็นยางพาราที่ไม่ได้มาตรฐาน และเกิดผลกระทบกับตลาดยางพาราในประเทศ โดยกรมศุลกากรได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7