“รจนา” ได้ที่ 11 เรือใบชิงแชมป์โลก

“รจนา” ได้ที่ 11 เรือใบชิงแชมป์โลก “ไอแอลซีเอ6”

     รจนา อัศววัฒนาพร นักแล่นใบสาวไทย ในรุ่น มาสเตอร์ เป็นนักกีฬาไทยที่ทำผลงานได้ดีที่สุดจากทั้งหมด 4 คน โดยได้ที่ 11 ในรุ่นมาสเตอร์ รุ่นอายุ 45-54 ปี ของการแข่งขันเรือใบชิงแชมป์โลก 2023 รายการ ILCA6 Masters World Championships (ไอแอลซีเอ6 มาสเตอร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนขิพ) ส่วนแชมป์ตกเป็นของ จอห์น เอมเมท จากสหราชอาณาจักร ด้าน วิคตอรีจา แอนดรูว์ไลท์ นักแข่งหญิงจากลิทัวเนีย ดีกรีนักแล่นใบโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น คว้าแชมป์รุ่นแอพเพลนทิส (Apprentice) อายุ 30-44 ปี 
     การแข่งขันเรือใบชิงแชมป์โลก 2023 รายการ ILCA6 Masters World Championships (ไอแอลซีเอ6 มาสเตอร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนขิพ) ที่ หน้าสโมสรเรือใบราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เขาพระตำหนัก พัทยา ซึ่งมีนักแล่นใบรุ่นใหญ่อายุ 30 ปี - 85 ปี จากทั่วโลก ลงแข่งขัน รวมทั้งหมด  118 คน จาก 24 ประเทศ
      สำหรับ ไอ แอล ซี เอ 6 มาสเตอร์เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ แบ่งนักแล่นใบออกเป็น 5 รุ่นตามช่วงอายุ โดยเริ่มจากรุ่นอายุ 30-44 ปี ในรุ่น แอพเพลนทิส (Apprentice) รุ่นอายุ 45-54 ปี ในรุ่น มาสเตอร์ (Master) รุ่นอายุ 55-64 ปี ในรุ่น แกรนด์ มาสเตอร์ (Grand Master) รุ่นอายุ 65-74 ปี ในรุ่น เกรท แกรนด์ มาสเตอร์ (Great Grand Master) และรุ่นอายุ 75 ปี ขึ้นไปรุ่น เลเจนด์ (Legend)
       ส่วนนักแล่นใบจากประเทศไทยลงแข่ง 4 คนคือ รจนา อัศววัฒนาพร ในรุ่น มาสเตอร์, เอก โลกิติยกุล และ มาลี วิทคราฟท์ ในรุ่น แกรนด์ มาสเตอร์ และ ซี อัลกรา ในรุ่นเกรท แกรนด์ มาสเตอร์ ซึ่งทุกคนเป็นนักแล่นใบจาก สโมสรราชวรุณ ในพระบรมราชูปถัมภ์
      หลังจากขับเคี่ยวกันอย่างสมศักดิ์ศรี กันทั้งหมด 10 เที่ยว โดยเริ่มต้นการแข่งขันในสภาพอากาศดีเยี่ยม ด้วยกระแสลม แสงแดด และอุณหภูมิน้ำทะเลที่พอเหมาะ เป็นที่ชื่นชอบของนักแล่นใบ อย่างไรก็ดีในบางวันมีสภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฝน ลมสงบนิ่ง ทำให้ต้องยกเลิกการแข่งขัน แต่ก็สามารถกลับมาแข่งสองเที่ยวสุดท้ายได้ในสภาพลมเบา ซึ่งนักแข่งส่วนใหญ่ได้พิสูจน์ฝีมือแล่นใบได้ในทุกสภาพอากาศ
     ในรุ่นมาสเตอร์ นักแข่งไทยลงแข่งเพียงคนเดียว คือ รจนา อัศววัฒนาพรได้ที่ 11 ซึ่งถือเป็นนักแล่นใบของไทย ที่ทำผลงานได้ดีที่สุด จากที่ลงแข่งขันรายการนี้ ทั้งหมด 4 คน 
     รจนา อัศววัฒนาพร เปิดเผยว่า “ก่อนลงแข่งได้ฝึกซ้อมอย่างหนักมากกว่าหนึ่งปีสำหรับรายการนี้ มันสุดยอดมาก การจัดการแข่งขัน สนามแข่งขัน และสโมสรฯ ซึ่งหาจากที่อื่นไม่ได้ ทั้งด้านที่ตั้ง และความสะดวกสบาย ในการแข่งขันทั้งหมดทุกรอบ สภาพลมมีทุกรูปแบบ ซึ่งในการทำอันดับได้อันดับนี้ ถือว่าเป็นผลงานที่น่าพอใจอย่างมากแล้ว”
         ในรุ่นมาสเตอร์ (Masters) อายุ 45-54 ปี จอห์น เอมเมท จากสหราชอาณาจักร คว้าเหรียญทองไปครองตามความคาดหมาย หลังจากนำที่หนึ่ง 9 เที่ยวจากการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 10 เที่ยว ด้วยคะแนนทิ้งห่างจากคู่แข่งถึง 15 คะแนน โดยมีเพื่อนร่วมชาติ เอียน เกรกโกรี่ ตามมาเป็นที่ 2 ได้ เหรียญเงิน และฟาบีโอ ซูยาม่า รามอส จากบราซิล รั้งที่ 3 เก็บเหรียญทองแดงกลับบ้าน
     รุ่นแอพเพลนทิส (Apprentice) อายุ 30-44 ปี เหรียญทองได้แก่  วิคตอรีจา แอนดรูว์ไลท์ นักแข่งหญิงจากลิทัวเนีย ดีกรีนักแล่นใบโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ญี่ปุ่น ที่เป็นจ่าฝูงนำมาตลอดทั้ง 10 รอบ โดยมี โบ จียอง จากเกาหลี ซึ่งมาฝึกซ้อมอยู่ที่สโมสรราชวรุณฯ หลายเดือนก่อนหน้าจะเริ่มการแข่งขันรายการนี้ ตามมาเป็นที่ 2 โดยมีคะแนนห่างจากแอนดรูไลท์ เพียง 6 คะแนน ส่วนที่ 3 ได้แก่ อาดิล คาลิด จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
     รุ่นแกรนด์มาสเตอร์ (Grand Masters) อายุ 55-64 ปี เป็นรุ่นที่การแข่งขันดุเดือดที่สุด โดยมีนักแล่นใบเข้าชิงชัยมากกว่ารุ่นอื่นๆ อลัน คล๊าก จาก แคนาดา ชนะได้เหรียญทอง ทิ้งคู่ต่อสู้ เทอร์รี่ สคัทเชอร์ จากสหราชอาณาจักร ซึ่งตามมาเป็นที่ 2 สองคะแนน โดยมี เดวิด เออรี่ จาก ออสเตรเลีย ได้ที่ 3 ด้วยคะแนนห่างจาก สคัทเชอร์ 6 คะแนน
    ส่วนนักกีฬาไทย มาลี วิทคราฟท์ ได้ที่ 38 และ เอก โลกิติยกุล ได้ที่ 40 ในรุ่นแกรนด์มาสเตอร์
    ในรุ่น เกรท แกรนด์ มาสเตอร์ (Great Grand Masters) อายุ 65-74 ปี เจฟฟ์ ลูสมอร์ จากออสเตรเลีย  คว้าแชมป์ไปครอง หลังจากขับเคี่ยวกันมาตลอด โดยเจฟฟ์ ลูสมอร์ ทำคะแนนนำในตอนแรก แต่โดนเพื่อนร่วมชาติ สตีเฟน กุนเธอร์ มาแซงขึ้นเป็นผู้นำอันดับ 1 ในรอบหลังๆ แต่ไม่สามารถไล่ทำคะแนนทัน สรุปทำให้กุนเธอร์จบการแข่งขันในอันดับที่ 3 ตามหลังเพื่อนร่วมชาติ ลินดัล แพทเทอร์ซัน ที่ได้อันดับที่ 2 คว้าเหรียญเงินไปครอง
     ส่วน นักกีฬาไทย ซี อัลกรา ได้ที่ 32 ในรุ่น เกรท แกรนด์ มาสเตอร์
       รุ่นเลเจนด์ (Legend) ซึ่งรวมนักแล่นใบอายุ 75 ปี ขึ้นไปถึง 20 คน ผลปรากฏว่า บิล ซิมเมส จากสหรัฐอเมริกา สามารถคว้าเหรียญทองไปครองด้วยคะแนนทิ้งห่างคู่ต่อสู้ถึง 21 คะแนน โดยมีเพื่อนร่วมชาติ โจนาธาน แอนดรอน ตามมาได้เหรียญเงิน ทำคะแนนนำ อันดับที่ 3 ชิจีโอะกาโตะ จากญี่ปุ่น เพียง 1 คะแนน
       นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษมอบให้แก่ นักแล่นใบอายุมากที่สุดคือ ปีเตอร์ เครก จากออสเตรเลีย และปีเตอร์ ไซเดนเบอร์ก จากสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งอายุ 85 ปี เท่ากัน ไซเดนเบอร์ก เคยแข่ง ไอ แอล ซี เอ มาสเตอร์ เวิลด์ แชมเปียนชิพ มาแล้วถึง 40 ครั้ง และยังได้เคยมาแข่งที่สโมสรราชวรุณฯ ในรายการเอเซีย แปซิฟิก มาสเตอร์ ในปี 1984 และ ปี 2010
     สำหรับ รายการนี้ จัดขึ้นจากความร่วมมือของสโมสรราชวรุณฯ, สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาพันธ์เรือใบเลเซอร์นานาชาติ ด้วยความสนับสนุนจากเมืองพัทยา, การกีฬาแห่งประเทศไทยและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมด้วย บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น อิเดมิตสึ Idemitsu เป็นผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันครั้งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมหลายโครงการที่บริษัทฯสนับสนุน และยังมี บริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ก็ได้เข้าร่วมสนับสนุน เพื่อต่อยอดความร่วมมือ กับสโมสรฯในกิจกรรมแข่งเรือใบมายาวนาน นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมสนับสนุนอื่นๆ อาทิเช่น โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา, โคคา-โคล่า โดยบริษัทไทยน้ำทิพย์, อิลิเมนท์ 6 เอโวลูชั่น (ผู้ผลิตเรือILCA) , ไมเนอร์กรุ๊ป, ยูไนเต็ด ฟิดดิ้งส์
    โดย รายการต่อไป ทาง สโมสรราชวรุณฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ILCA7 Masters World Championships  (ไอแอลซีเอ 7 มาสเตอร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ) ซึ่งนักแข่งที่ลงแข่งจะใช้ใบเรือขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อความเร็วของเรือรุ่นที่แข่งในกีฬาโอลิมปิก (Olympic class) โดยมีนักแล่นใบเข้าร่วมการแข่งขัน 86 คน จาก 22 ประเทศ โดยได้เริ่มการแข่งขันอย่างเป็นทางการไปแล้วและจะแข่งขันต่อเนื่องไปจนถึง วันที่ 26 ก.พ.

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ