“อลงกรณ์”เดินหน้าพัฒนาเกษตรอินทรีย์
“อลงกรณ์”เดินหน้าพัฒนาเกษตรอินทรีย์วิถีในเมืองมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและอาหารปลอดภัย
วันนี้ (7 ธันวาคม 2565 ) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้เกียรติบรรยาย ในหัวข้อเรื่อง “เกษตรอินทรีย์วิถีในเมือง สู่ BCG Model” ในงานสัมมนาออนไลน์ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนวิถีในเมือง ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ซึ่งจัดขึ้นโดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาตระหนักถึงนโยบายและความสำคัญของเกษตรกรรมยั่งยืนโดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองที่สร้างความมั่นคงทางอาหารของคนเมือง รวมถึงสนับสนุนการสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในเมืองให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจชุมชนมีรายได้ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว
นายอลงกรณ์ ได้กล่าวถึง 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ(Sustainable Development Goals :SDGs) เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการกำหนดแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยเป็นครัวของโลกมีศักยภาพและเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเกษตรปลอดภัย และอาหารปลอดภัยท็อปเทนของโลก โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ 3 s (Safety-Security-Sustainability )เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน
โดยยกตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศๆเช่น จีน สวีเดน สิงคโปร์ อัลบาเนีย เกาหลี ญี่ปุ่นที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปรับพื้นที่สีเขียวในเมืองให้เข้ากับพื้นที่ในประเทศไทย
ปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้วางหมุดหมายการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนทั้ง 5 สาขา คือ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสานครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและทำการเกษตร เป็นการพัฒนาแบบคู่ขนานทั้งในเมืองและชนบท
สำหรับในพื้นที่เมือง มีโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองเน้นการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย โดยมีคณะทำงานด้านต่าง ๆเช่น คณะทำงานพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus) คณะทำงานพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนพื้นที่โรงเรียนและวิทยาลัย (Green School and College) พื้นที่วัด (Green Temple) คณะทำงานพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนพื้นที่ชุมชนและท้องถิ่น (Green Community) เน้นการทำงานบนความร่วมมือของทุกภาคส่วนในลักษณะการเป็น partnership ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคเกษตรกรและภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทาง BCG Model
ส่วนในชนบทมีโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล (Tumbom Sustainable Agriculture Development Project : TAP) ภายใต้แนวคิด “บริหารโดยชุมชน เป็นของชุมชน เพื่อชุมชน” พร้อมกัน77จังหวัดโดยคิกออฟที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก มีโครงสร้างการดำเนินงานผ่าน คณะกรรมการฯ คณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานฯ ในระดับส่วนกลาง ระดับส่วนภูมิภาค ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบล 7,255 ตำบล ครอบคลุมทุกจังหวัด
เพื่อมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้เกษตรกรและชุมชน ยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยโดยใช้ 12 คาดงัดเป็นเครื่องมือในการสร้างจุดเปลี่ยน และผลักดันภาคการเกษตรของไทยสู่การเป็นประเทศผู้ผลิต ส่งออก เกษตรปลอดภัย และอาหารปลอดภัยของโลกต่อไป.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น