“สาทิตย์” นำ ส.ส.ประชาธิปัตย์

“สาทิตย์” นำ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ผนึก “ค้านกัญชาเสรี” ย้ำ ข้อเสนอ 13 ข้อ ในชั้น กมธ.วิสามัญ เพื่อหนุน “กัญชาทางการแพทย์” 

(2 พ.ย. 65) รัฐสภา เวลา 11.30 น.
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ ส.ส.จังหวัดระยอง นายประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ จ.กระบี่ ร่วมกันแถลงข่าวสืบเนื่องจากวานนี้ ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้มีการประชุม ส.ส.ของพรรค และหยิบยกเอา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วขึ้นมาพิจารณา 

นายสาทิตย์ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอญัตติไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ให้ กมธ. พิจารณาถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกไปพิจารณาทบทวนใหม่ และสภาได้มีมติโดยเสียงข้างมาก ให้ กมธ. ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ออกไปทบทวนใหม่ บัดนี้ กมธ. ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวกลับมาที่สภาแล้ว แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า กมธ. วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มีการแก้ไขตามที่มี 2 พรรคการเมืองได้เสนอไป ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้มีข้อเสนอไปทั้งสิ้น 13 ข้อ พรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอ 5 ข้อ และจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย โดยศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดเสนอให้มีการทบทวนเป็นรายมาตรา และในการพิจารณาร่างดังกล่าว ทราบว่า กมธ. มีการประชุมเพื่อพิจารณาเพียง 2-3 ครั้งเท่านั้น แล้วมอบให้ฝ่ายเลขาฯ ไปพิจารณา หลังจากนั้นมีการประชุมกัน โดยมี ส.ส. บางท่านพยายามทักท้วงว่าควรหยิบเอาข้อเสนอแต่ละข้อขึ้นมาพิจารณาในชั้น กมธ. แต่ กมธ.โดยเฉพาะผู้ที่หน้าที่หลักๆ กลับไม่สนใจที่จะรับฟังข้อเสนอจากทั้ง 2 พรรค และจากคณะแพทย์ฯ จุฬาฯ หรือแม้แต่จะหยิบยกประเด็นทางสังคมที่มีความกังวลในเรื่องนี้ 

นายสาทิตย์ ได้ยกตัวอย่างบางประเด็นจาก 13 ข้อ ที่พรรคประชาธิปัตย์หยิบยกเป็นข้อเสนอคือ ให้ทบทวนว่ากัญชา ยังคงเป็นยาเสพติดหรือไม่ เพราะในมาตรา 3 ระบุว่า “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด” ถือเป็นประเด็นที่จะสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต นอกจากนั้น พรรคยังได้เสนอว่า ต้องแก้ไขบทนิยามศัพท์ การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในครัวเรือน ซึ่งเดิมกฎหมายเขียนไว้เพียงว่า “เป็นการบริโภคภายในครอบครัวเพื่อรักษาสุขภาพ” ซึ่งมีช่องว่างอยู่ว่าใครเป็นคนชี้ว่าบุคคลใดควรได้รับการบริโภคกัญชาเพื่อรักษาสุขภาพ และเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นปัญหาทั้งในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงด้วย พรรคจึงเสนอให้แก้ไขว่า การบริโภคส่วนบุคคลเพื่อดูแลสุขภาพของบุคคลในครอบครัว ต้องเป็นไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพตามที่กฎหมายกำหนด หากในกฎหมายไม่ได้ระบุให้ชัดเจน และมีความหละหลวม จะส่งผลให้ประชาชนคิดไปเอง ซึ่งจะทำให้นำไปสู่การใช้เพื่อนันทนาการได้

นอกจากนั้นในข้ออื่นๆ ยังมีการกำหนดให้ อย. เป็นผู้ปรับปรุง พัฒนาสายพันธุ์ในการปลูกกัญชา ซึ่งเรื่องนี้เป็นบทบาทหน้าที่ที่ อย. ไม่ควรทำ แต่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบ ให้ใบอนุญาตอาหาร ยา หรือเครื่องดื่มทั้งหลาย ดังนั้นการกำหนดให้ อย. มีหน้าที่ลักษณะนี้ จะทำให้ อย. เกิดปัญหาเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้ 

นายสาทิตย์ยังเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังจะส่งผลให้เป็นปัญหาทางการเมืองต่อไปในอนาคตได้ด้วย คือ ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการเรื่องกัญชาในขั้นตอนใดก็ตาม ถูกสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต ในกฎหมายนี้ระบุว่าให้อำนาจรัฐมนตรี ในที่นี้คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถสั่งอนุญาตไปพลางก่อนได้ 

“ไม่มีกฎหมายใดเขียนไว้ในลักษณะเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเหมืองแร่ หรือกฎหมายอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับการรับใบอนุญาตไปแล้ว หากถูกสั่งหยุด หรือเพิกถอน จะไม่มีการให้อำนาจรัฐมนตรีใช้อำนาจส่วนตนในการสั่งให้ดำเนินการไปพลางก่อนได้ เรื่องนี้จะนำมาซึ่งปัญหาที่จะมีการทับซ้อนแห่งผลประโยชน์ในอนาคต” นายสาทิตย์กล่าว 

และยังเพิ่มเติมอีกว่า กฎหมายนี้ไม่มีมาตรการควบคุมการซื้อขายอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา ทำให้ขณะนี้แม้แต่บนสถานีรถไฟฟ้าใน กทม. มีการขายกัญชาข้างถนน และขายอุปกรณ์ในการเสพ เช่น บ้องกัญชา โดยที่ตำรวจไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เลย 

ดังนั้นเมื่อ กมธ. ไม่มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว การส่งเข้าสู่สภาก็จะทำให้มีการอภิปรายอย่างมาก และหากยังยืนยันโดยเสียงข้างมาก หรือยืนยันโดย กมธ. ก็ดี อาจจะส่งผลให้เกิดความโกลาหลในสภา และถ้ากฎหมายนี้ผ่านสภาออกมาโดยขาดความรอบคอบ พรรคประชาธิปัตย์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาพิทักษ์ผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาโดยไม่ถูกต้อง ด้วยการลงมติไม่รับกฎหมายฉบับนี้ 

“สถานการณ์ของกฎหมายฉบับนี้ มีแนวโน้มยืดเยื้อแน่นอน 90 กว่ามาตราอภิปราย 1 สัปดาห์ไม่จบ ถึงอภิปรายจบลงมติไม่ผ่านสภา ก็ต้องไปที่วุฒิสภา ซึ่งก็มีแนวโน้มที่วุฒิสภาก็จะใช้เวลาในการพิจารณาเพิ่มเติมอีก ระยะเวลาที่ยาวนานจากนี้ไป สิ่งหนึ่งที่พรรคประชาธิปัตย์กังวลก็คือกฎหมายกัญชาไม่มี ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามในประกาศกระทรวงเพิกถอนกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 แล้ว ขณะนี้ไทยถูกสื่อต่างประเทศเรียกว่า เป็นเมืองหลวงกัญชาของโลกไปแล้ว” นายสาทิตย์กล่าว 

พร้อมกับย้ำจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคเห็นว่ากัญชานั้นมีประโยชน์ แต่ต้องเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่มีโทษมหาศาลซึ่งจะต้องหาทางป้องกัน สถานการณ์ที่เป็นช่องว่างขณะนี้ และกฎหมายจะต้องยืดเยื้อไปอีกนาน มีทางเดียวเท่านั้นคือ จะต้องนำกัญชากลับมาอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 อีกครั้ง 

“คำถามสุดท้ายคือฝ่ายใดก็ตามดันเรื่องกัญชาเสรีขณะนี้ ท่านต้องการอะไรกันแน่ แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์เรายืนหยัดอยู่ในจุดที่เป็นห่วงต่ออนาคตลูกหลาน และสังคม เราต้องการให้สังคมนี้ปลอดจากยาเสพติด” นายสาทิตย์กล่าว 

ด้าน ดร.พิสิฐ ได้เพิ่มเติมอีกด้วยว่า หากไม่มีการปิดช่องโหว่ในกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ พ่อแม่และผู้ปกครองเป็นห่วงว่าลูกหลานของตัวเองจะเมากัญชา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทย รวมทั้งจากนี้ไปประเทศไทยจะถูกตราหน้าว่าเป็นดินแดนกัญชา เมื่อเราส่งสินค้าไปต่างประเทศก็จะถูกตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยได้ และรวมไปถึงคนไทยที่จะเดินทางไปต่างประเทศก็จะถูก ตม.ของประเทศปลายทางตรวจสอบอย่างเข้มข้นอีกด้วย 

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ