ภารกิจผู้พิทักษ์
ภารกิจผู้พิทักษ์....กับผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพในรอบปี 2564 และสถิติการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ประสบภยันตรายในระหว่างปฏิบัติหน้าที่
"การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ" นั้นมีคุณภาพยังไง?...การลาดตระเวนไม่ใช่เพียงแค่เดินไปเรื่อยเปื่อย เหนื่อยก็พัก ไร้ซึ่งจุดหมายปลายทาง แต่คุณภาพของการลาดตระเวนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นั้น คือ เจ้าหน้าที่มีข้อมูลที่จะนำมาใช้วางแผนในการลาดตระเวน
แล้วเอาข้อมูลมาจากไหน?...ข้อมูลที่ได้มานั้น ก็เป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่จดบันทึกมาจากการออกไปลาดตระเวนเพื่อป้องกันปราบปรามการกระทำผิดในแต่ละครั้ง โดยจะจดบันทึกสิ่งที่พบ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยคุกคาม ปัจจัยนิเวศ และร่องรอยของสัตว์ป่า ทำให้ทราบถึงทรัพยากรที่เรามี และจุดเสี่ยงต่อการรุกล้ำเข้ามากระทำผิด ซึ่งบริเวณเหล่านั้น พี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็จะมีลาดตระเวนเข้าไปตรวจตราอยู่เสมอ
นอกจากนี้ข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เก็บมานั้น จะถูกนำมาบันทึกเป็นฐานข้อมูลรูปแบบไฟล์ดิจิตอล โดยจะถูกบันทึกลงในโปรแกรม SMART ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำรายงานได้
สำหรับการจดข้อมูลของเจ้าหน้าที่นั้น จะมีแบบฟอร์มที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเก็บข้อมูลจากการลาดตระเวนได้ครบถ้วน ดังนั้น จึงจำเป็นจะต้องมีการฝึกฝนและถ่ายทอดการใช้แบบฟอร์มให้กับเจ้าหน้าที่
โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ผลการลาดตระเวนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมาตรฐานระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART Patrol System) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 - 30 กันยายน 2564 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ หรือ SMART Patrol ใน พื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 213 หน่วยงาน ลาดตระเวนครอบคลุมพื้นที่ 58,584,831.97 ไร่ จากพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้ง 213 แห่ง 67,102,843.30 ไร่ หรือคิดเป็นพื้นที่การเดินครอบคลุมร้อยละ 87.31 ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์
กว่า 58 ล้านไร่ภายในปีงบประมาณที่ผ่านมา คือผลงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งเกิดจากการทุ่มเทและเสียสละ และการฝึกฝนที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน มูลนิธ รวมถึงองค์กรต่างๆ เพื่อให้ภารกิจปกป้องทรัพยากรธรรมชาติประสบความสำเร็จด้วยความปลอดภัย
การทำงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องคุ้มครองพื้นที่ป่า เป็นงานที่เต็มไปด้วยอันตราย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ประสบภยันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ ในสภาพพื้นที่สูงชัน รกทึบ ทุรกันดาร การลาดตระเวนหรือประจำหน่วยที่อยู่ห่างไกล ที่ต้องเผชิญกับผู้ลักลอบกระทำความผิด ทางกฎหมายป่าไม้ หรือถูกสัตว์ป่าทำร้าย การเจ็บป่วย อุบัติเหตุทางถนนและทางน้ำมาอย่างต่อเนื่อง
โดยในปี 2564 มีเจ้าหน้าที่ที่ประสบภยันตรายในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวม 37 ราย แยกเป็น เจ้าหน้าที่เสียชีวิต จำนวน 20 ราย บาดเจ็บสาหัส จำนวน 4 ราย บาดเจ็บจากการปะทะ เสี่ยงภัย จำนวน 2 ราย บาดเจ็บ จำนวน 11 ราย กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผ่านกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมเป็นเงิน 1,418,500 บาท....
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น