กมธ .กีฬาชงตั้งทีมตรวจสอบประเมินการแข่งขันหลังจบเกมหวังลดปัญหาการล้มมวย

กมธ .กีฬาชงตั้งทีมตรวจสอบประเมินการแข่งขันหลังจบเกมหวังลดปัญหาการล้มมวย

วันพุธที่ 3 พฤศจิกายน ๒๕๖๔ เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สผ.) N 404 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา
1.พิจารณาเรื่อง การล้มมวยของ ฟ้าวันใหม่ ช.ไทยเศรษฐ์ ในรายการ “ศึกมวยมันส์วันศุกร์”
ณ เวทีมวยโรงยิมอเนกประสงค์ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2564 
คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมชี้แจง ได้แก่ ดร.ก้องศักด  ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย นายพลัฏฐ์  สุวรรณาเมธากร ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย นางสาวธนวลัญช์  ไกรนรา ผู้ช่วยปฏิบัติงานเชี่ยวชาญกฎหมาย นายณัฐเดช  วชิรรัตนวงศ์ หัวหน้าค่ายมวยเพชรยินดี นางสาวชามา  คงอุดม เจ้าหน้าที่ค่ายมวยเพชรยินดี และ ดร.ยงศักดิ์ ณ สงขลา ประธานเทคนิคผู้ตัดสินกีฬามวย 

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาศึกษาข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสรุปได้ว่า การชกมวยของฟ้าวันใหม่ ช.ไทยเศรษฐ์ ในยกที่ 4 ที่โดนศอกของคู่ต่อสู้ หลานย่าโม ว.วัฒนะแล้วลงไปนอนดิ้นให้กรรมการนับ เป็นการชกที่ไม่สมศักดิ์ ผิดปกติไปจากการชกในยกที่ 1 – 3 ซึ่งชกได้ดีมาก และจากหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวน 30,000 บาท ทำให้ฟ้าวันใหม่ ช.ไทยเศรษฐ์ ยอมรับสารภาพว่า 
ล้มมวยจริง โดยมีนาย นายอุดม จารย์ลี เจ้าของฟาร์มควาย จ.นครนายก อดีตหัวหน้าคณะนักมวยเกียรติ พานทอง เป็นผู้ว่าจ้างให้ล้มมวย จำนวนเงิน 500,000 บาท ซึ่งขณะนี้ ฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการกีฬามวย ได้มีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยแจ้งความที่ สน.ในเขตพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่ง ณ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการดำเนินคดีตามกฎหมายและคาดว่าคดีจะขึ้นสู่ศาลภายในเดือนธันวาคมนี้
ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่า การล้มมวยครั้งนี้ เป็นการสร้างความเสื่อมเสียให้แก่วงการกีฬามวย โดยเฉพาะมวยไทยที่เป็นกีฬาประจำชาติ และแม้ว่าการจับผิดเรื่องการล้มมวยจะกระทำได้ยาก 

ที่ผ่านมามีการดำเนินคดีล้มมวยตามกฎหมายรวมคดีปัจจุบันด้วยมีเพียง 5 คดี มีการสั่งจำคุก 1 ปี จากโทษ 5 ปี เพียง 1 คดี ที่เหลือเป็นการรอลงอาญา 2 ปีทั้งสิ้น แต่หากทุกฝ่ายร่วมกันทำหน้าที่ให้ดีที่สุด มีความซื่อสัตย์สุจริตทั้งในเรื่องการแข่งขันและการตัดสิน ย่อมสามารถช่วยกันแก้ไขปัญหาที่น่าละอายเช่นกรณีนี้ได้ 
ทั้งนี้ ควรมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาการล้มมวย เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และหากมีแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนากีฬามวย มีการพัฒนากรรมการ มีการสร้างนักกีฬามวย มีการจัดระบบค่ายมวย จัดมาตรการตรวจสอบการแข่งขันอย่างจริงจัง เช่น มีทีมผู้ตัดสินจากส่วนกลาง มีทีมตรวจและประเมินการแข่งขันหลังจบเกม (Match Commissioner) มีการ
ใช้ภาพประกอบการตัดสินจากกล้องทุกมุม หรือใช้เทคโนโลยีช่วยตรวจสอบการแข่งขัน จะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และสามารถป้องกันปัญหาการล้มมวยกรณีอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้น ยังเห็นควรให้การกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกีฬามวย จัดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ด้านกฎหมายหรือนิติกร ไปกำกับดูแลการจัดการแข่งขันกีฬามวยในแต่ละจังหวัด เพื่อช่วยให้การจัดมีความถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวยดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วยแล้ว ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการกีฬามวยได้ดำเนินการลงโทษในขั้นต้นต่อกรณีการล้มมวยของฟ้าวันใหม่ คือการเพิกถอนใบอนุญาต
เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542 มาตรา 21 ประกอบมาตรา 39 แล้ว
คณะกรรมาธิการให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการล้มมวยของ ฟ้าวันใหม่ฯ และผู้ว่าจ้าง เป็นอย่างยิ่ง โดยคณะกรรมาธิการจะติดตามความคืบหน้าของคดีอย่างใกล้ชิด และยินดีมอบข้อมูลจากการประชุมในวันนี้ เพื่อช่วยให้พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติงานตามอำนาจและหน้าที่อย่างเต็มที่ และจะขอทราบสรุปสำนวนของพนักงานสอบสวนในโอกาสต่อไปด้วย

2. พิจารณาเรื่อง องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย

 เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย (World Anti-Doping Code 2021
คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมชี้แจง ได้แก่ดร.ก้องศักด  ยอดมณี  ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย นายแพทย์มีชัย อินวู๊ด ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา  การกีฬาแห่งประเทศไทย  นางสาวธำรงลักษณ์  ลาพินี กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมาการกฤษฎีกา นายปรัชญา  เจียสกุล นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ นายแพทย์ วารินทร์  ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพลเรือเอก อภิวัฒน์  ศรีวรรธนะ รองเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณาปัญหาจากกรณีที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (WADA) ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย 1 ปี เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย (World Anti-Doping Code 2021 ซึ่งไทยโดนลงโทษใน 4 ข้อ ได้แก่
ไทยจะไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการ และรับทุนสนับสนุนจาก WADA ได้ 
ผู้แทนรัฐบาลไทยที่เป็นกรรมการในสหพันธ์กีฬานานาชาติจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี 
ไทยจะไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ ระดับภูมิภาค ทวีป และโลก 
ที่เป็นเกมส์กีฬาที่มี WADA รับรองการแข่งขัน (ยกเว้นโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์) โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ เดือนมีนาคม 2565


ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในพิธีมอบเหรียญรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ที่ WADA รับรองการแข่งขัน โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่นักกีฬาไทย จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิคฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 และหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จะส่งผลให้ทุกสมาคมกีฬาไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้
ทั้งนี้ ประเด็นที่ประเทศอื่นๆ ถูกลงโทษ คือ การละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎของ WADA ในการตรวจสารต้องห้ามไม่ครบถ้วน แต่ในกรณีของประเทศไทยเป็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศไม่สอดคล้องกับ WADA
ในประเด็นการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศของไทยให้สอดคล้องกับกฎของ WADA นั้น ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นว่า กฎการใช้สารต้องห้ามของ WADA เป็นกฎที่ออกด้วยองค์กรเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายในลำดับรองให้สอดคล้องกับกฎของ WADA แต่ปัญหาสำคัญคือ WADA จะมีการปรับปรุงกฎแทบทุกปี โดยมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎของ WADA ได้ทัน โดยเฉพาะกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักนั้น มีขั้นตอนการพิจารณาและต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งหากพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนในการออกเป็นพระราชกำหนด ตามมาตรา ๑๗๒ ของรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณาจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนการตราเป็นกฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญนั้น อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป และบัดนี้ จากการได้รับมอบหมายให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงประเด็นต่าง ๆ ของกฎหมายเพื่อรองรับและสอดคล้องกับกฎของ WADA ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 อาทิ บทนิยาม บทกำหนดโทษ ความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสารต้องห้าม และประเด็นอื่น ๆ เพื่อปลดล๊อคให้มีการแก้ไขกฎหมายได้ง่ายขึ้น เช่น การเพิ่มอำนาจรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการ ทางคณะทำงานแก้ไขกฎหมายของกฤษฎีกาได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการประชุมสรุปเรื่อง ความเป็นอิสระขององค์กรควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬาของไทย ในวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม ศกนี้
ในส่วนของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งนักกีฬาไปแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ในนาม “ทีมชาติไทย” ได้รับผลกระทบไม่มากนักต่อกรณีนี้ แต่มิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และได้บูรณาการการทำงาน ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆให้ลุล่วง

โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด 
เมื่อพิจารณาอย่างกว้างขวางแล้ว ที่ประชุมมีมติให้การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมกันดำเนินการเสนอกฎหมายสารต้องห้ามฯ อย่างเร่งด่วนภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และขอให้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการขออุทธรณ์การลงโทษจาก WADA พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีความรวดเร็วที่สุด หรือแม้แต่หากเหตุผลและช่องทางในการอุทธรณ์ไปถึงอนุญาโตตุลาการหรือศาลโลกก็ควรดำเนินการ โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการกีฬา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการยกร่างและแก้ไขกฎหมายกีฬาโดยตรงอยู่แล้ว
ก็พร้อมที่จะช่วยผลักดันให้มีการออกกฎหมายสารต้องห้ามฯ อย่างเต็มที่ และจะทำให้เร็วที่สุด ลดขั้นตอนการพิจารณากฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยตรง


ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ