“ปฏิรูปพรรคการเมือง ด้วยระบบไพรมารีโหวต”

“ปฏิรูปพรรคการเมือง ด้วยระบบไพรมารีโหวต”

ถึงเครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด.
   ในเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุเอาไว้ในมาตรา 45 ความว่า
  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมืองซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง”ต่อคำถามว่า อะไรคือหัวใจหรือสาระสำคัญของแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เลขาธิการ กกต.ได้ตอบคณะกรรมาธิการฯของวุฒิสภาในคราวหนึ่งว่า มี 2 ประการ คือ
 1) ทำพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย         2)ทำประชาชนให้เป็นพลเมือง.
เมื่อถามต่อไปว่า รัฐธรรมนูญ 2560 และแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองได้ออกแบบวางแผนในการทำพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยเอาไว้อย่างไร คำตอบคือการทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรคการเมืองและมีส่วนร่วมในกิจการสำคัญของพรรค แทนที่จะผูกขาดโดยนายทุนพรรค ผู้บริหารและกรรมการบริหารพรรคเท่านั้น โดยเฉพาะการดูแลสาขาพรรคประจำเขตเลือกตั้ง สำนักงานตัวแทนประจำจังหวัด และการกำหนดตัวผู้สมัคร ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ
มาตรการรูปธรรมในเรื่องนี้ ปรากฏอยู่ในระบบและกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นที่เรียกกันว่าไพรมารีโหวต (primary vote) นั่นคือ พรรคการเมืองจะส่งใครลงสมัคร จะต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้นจากสมาชิกพรรคมาก่อน ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ โดยมีคณะกรรมการสรรหา 7 คน(ผู้บริหาร 4 ตัวแทน 3) เป็นผู้ดำเนินการ.
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเห็นว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่โดยเฉพาะพรรคที่จัดตั้งภายหลังพรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ ไม่สามารถดำเนินการได้ทัน คณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)จึงมีคำสั่งที่ 53/2560  มิให้นำระบบการเลือกตั้งขั้นต้นเช่นนี้มาบังคับใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ( 24 มีนาคม 2562).
     บัดนี้ใกล้ถึงวาระการเลือกตั้งครั้งใหม่ ล่าสุดมีกลุ่มนักการเมืองและพรรคการเมือง 4 กลุ่มใหญ่ ยื่นเสนอแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญรวม 13 ญัตติ จำนวน 43 มาตรา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องเสนอให้ยกเลิกระบบเลือกตั้งขั้นต้นตามมาตรา 47 รวมอยู่ด้วย.
ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญของวุฒิสภา และ กกต. ได้ร่วมกันออกมายืนยันแล้วว่า ตราบใดที่รัฐธรรมนูญและพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ยังคงอยู่แบบเดิม ในการเลือกตั้งทั่วไปในคราวหน้า(2566) จะต้องมีการใช้ระบบเลือกตั้งขั้นต้นอย่างเต็มรูปแบบ.
เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นร้อนที่เครือข่ายปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนทั่วประเทศจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะมันเป็นหัวใจของการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเลยทีเดียว กล่าวคือเจตนารมณ์ของประชาชน(คนดูทั้งสนาม)ต้องการ“ทำพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ทำประชาชนให้เป็นพลเมือง” แต่สิ่งที่นักการเมือง(ผู้เล่นส่วนหนึ่งในสนาม)ต้องการเปลี่ยนกติกาที่เป็นหลักการสำคัญ
 ถ้าเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ จุดยืนและท่าทีของ ส.ว.250 คนในรัฐสภาจะเป็นอย่างไร ส.ส.ส่วนใหญ่จะเลือกทางไหน และกลุ่มการเมืองนอกสภาจะเคลื่อนไหวรุนแรงอีกหรือไม่
ถ้าการแก้ไขสำเร็จทั้งหมด สำเร็จเพียงบางส่วน หรือไม่สำเร็จเลย จะส่งผลอย่างไรต่อพรรคการเมืองที่มีอยู่อย่างหลากหลายในปัจจุบัน ทั้งขนาดและความมั่นคงแข็งแรง

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา / 21 มิถุนายน 2564

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ