“ปกป้องท้องถิ่น จากการเมืองน้ำเน่า”

“ปกป้องท้องถิ่น จากการเมืองน้ำเน่า”

ถึงเครือข่ายผู้นำองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคมและเครือข่ายท้องถิ่น-ท้องที่วิถีใหม่ ทุกจังหวัด

นายแพทย์พลเดช กล่าวว่าตนได้เริ่มเข้ามาทำงานชุมชนเข้มแข็ง ประมาณ 25 ปีล่วงมาแล้ว อาจารย์ผู้ใหญ่ได้เตือนว่า “ระวังการเมืองจะทำให้ชุมชนแตกแยก” ท่านยกคำพูดของเพื่อนชาวอินเดียว่าในประเทศเขา การเมืองลงไปถึงชุมชนไหน ชุมชนนั้นแตกหมด.
ด้วยประสบการณ์อันจำกัด คำเตือนของผู้ใหญ่ทำให้พวกเราที่ทำงานชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมต่างระมัดระวังไม่นำกิจกรรมงานพัฒนาไปยุ่งเกี่ยวปะปนกับงานการเมืองการเลือกตั้ง แม้ว่าพวกเราทุกคนล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีจิตสำนึกสาธารณะและตื่นตัวต่อปัญหาบ้านเมืองด้วยกันทั้งนั้น

ในการทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและสังคมเข้มแข็ง เราพบตัวอย่างของตำบลที่มีความแตกแยกเป็นขั้วเป็นฝ่ายอยู่เป็นจำนวนมาก สาเหตุก็มาจากการแข่งขันเป็นนายกท้องถิ่นแบบเอาเป็นเอาตาย แพ้ไม่ได้ ญาติพี่น้องต้องแตกร้าว ฝ่ายชนะกินรวบ งบพัฒนาเทลงไปให้เป็นรางวัล ส่วนฝ่ายผู้แพ้ก็ก้มหน้ารอวันแก้แค้น เช่นนี้รังแต่จะทำให้ชุมชนแตกความสามัคคี สังคมอ่อนแอ คนยากคนจนในชุมชนถูกทอดทิ้งให้ดิ้นรนกันไปตามยถากรรม

เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้ผ่านไปได้ราว 10 ปี ปรากฏว่าเริ่มมีผู้นำชุมชนส่วนหนึ่งเกิดตั้งสติได้ รู้ว่าสาเหตุของความแตกแยกว่าเกิดมาจาก
กระบวนการแข่งขันต่อสู้ทางการเมืองในระบบตัวแทน จึงพากันตั้งหลักใหม่โดยก้าวข้ามเกมการต่อสู้ที่มุ่งเอาชนะคะคาน อันเป็นวิถีของการเมืองแบบตัวแทนในระดับชาติ หันกลับมาทำงานชุมชนเข้มแข็ง รวมตัวร่วมคิดร่วมทำ สามัคคีสมานฉันท์ ผู้นำในแบบแผนนี้คือผู้ที่มีจิตอาสา เสียสละและเป็นที่ยอมรับโดยปริยาย เป็น “ฉันทามติ” มิต้องพึ่ง “การลงประชามติ” เพราะไม่มีใครต้องแย่งใคร นี่คือ“ประชาธิปไตยชุมชน”

มีตัวอย่างของจริงที่สามารถไปสัมผัสได้ตลอดเวลา เช่นที่ บ้านดอนศาลเจ้า จ.สุพรรณบุรี, บ้านตุ่น จ.พะเยา, กุดหมากไฟ จ.อุดรธานี, ท่าข้าม จ.สงขลา, วังบาล จ.เพชรบูรณ์, หนองสาหร่าย จ.กาญจนบุรี, ผาปัง จ.ลำปาง, บ้านโสนน้อย จ.สระแก้ว, บ้านขาม จ.ชัยภูมิ, เขาซก จ.ชลบุรี, ฯลฯ

นอกจากนี้แล้ว ในปี 2560 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และเครือข่ายศูนย์ประสานงานภาคีการพัฒนา 77 จังหวัด (ปัจจุบันคือ “สภาประชาสังคมไทย”) ได้สำรวจและรวบรวมข้อมูลกรณีศึกษาชุมชนเข้มแข็งจากทุกจังหวัด รวมทั้งสิ้น 3,022 แห่ง.

สามทศวรรษแล้วที่วัฒนธรรมการเมืองแบบแย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ ได้คืบคลานลงมาจากระดับชาติสู่การเมืองในระดับท้องถิ่น นับเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เพราะวิถีการเมืองน้ำเน่า จะระบาดลุกลามลงมา จนพุพังไปทั้งโครงสร้าง เครือข่ายปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนมีหน้าที่ต้องพิทักษ์ปกป้องระบบประชาธิปไตยท้องถิ่นเอาไว้ให้ได้.
ในศึกเลือกตั้ง อบจ. 2563 และเลือกตั้งเทศบาล 2564 มีพรรคการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “รุ่นใหม่” บางพรรค ประกาศตัวอย่างครึกโครม จะเข้าแย่งชิงพื้นที่เข้าไปบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ด้วยความร้อนวิชาและการประเมินที่ผิดพลาด ทำให้พ่ายแพ้อย่างหมดรูปตามที่ทราบกัน บทเรียนดังกล่าวน่าจะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในโอกาสต่อไป.
อันที่จริง ระบบประชาธิปไตยของเราประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน ที่ฐานล่างสุดคือประชาธิปไตยชุมชน เป็นเรื่องการพัฒนาและการพึ่งตนเอง-พึ่งพากันเอง. ระดับยอดสูงสุดคือประชาธิปไตยระบบ “ผู้แทน” ที่ต้องลงคะแนนเพื่อตัดสินบุคคลเข้าไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน ด้านนิติบัญญัติและด้านบริหาร. ส่วนที่อยู่ตรงกลางคือประชาธิปไตยท้องถิ่น เป็นการเลือก “ผู้บริหารท้องถิ่น” ไปพัฒนาและจัดการตนเองเพื่อท้องถิ่นชุมชนที่รับผิดชอบ.

ประเด็นระดมความคิดประจำสัปดาห์ 

  1. สถานการณ์ประชาธิปไตย 3 ระดับ ในจังหวัด-อำเภอของท่านเป็นอย่างไร ลองประเมินและเล่าสู่กัน

  2. จะช่วยกันพิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตยท้องถิ่นในพื้นที่ได้อย่างไร

นายแพทย์พลเดช  ปิ่นประทีป
สมาชิกวุฒิสภา / 14 มิถุนายน 2564.

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ