“สองล้อ” นำวิทย์กีฬากับนักปั่นไทย

“สองล้อ” นำวิทย์กีฬากับนักปั่นไทย

“สองล้อ” เดินหน้ายกระดับนักกีฬาไทย โดยนำวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเตรียมจัดซื้ออุปกรณ์ “ไบค์ ฟิตติ้ง” เพื่อนำมาปรับแต่งรถจักรยานให้นักกีฬามีศักยภาพสูงสุด โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย, คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และราชวิทยาลรณ์

“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ เดินหน้าวางแผนงานการทำงานพัฒนามาตรฐานกีฬาสองล้อไทยโดยใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาเต็มตัว โดยเฉพาะในเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีและวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยยกระดับนักกีฬาจักรยานไทย

พลเอกเดชา กล่าวว่า ในรอบปี 2564 สมาคมกีฬาจักรยานฯ มีแผนที่จะจัดซื้ออุปกรณ์ “ไบค์ ฟิตติ้ง” เพื่อนำมาใช้ในการปรับแต่งรถจักรยานแข่งขันสำหรับนักปั่นไทยทุกคนในทุกประเภท ให้ได้ศักยภาพสูงสุดทั้งในการแข่งขันและการฝึกซ้อม โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายเทคนิคของสมาคมฯ ดำเนินการจัดหารายละเอียดของอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อนำมาประกอบการขออนุมัติจัดซื้อมาใช้งานต่อไป

“สำหรับอุปกรณ์ไบค์ ฟิตติ้ง นอกเหนือจากจะนำมาใช้กับนักปั่นในระดับทีมชาติและเยาวชนทีมชาติที่ปัจจุบันมีจำนวนรวมกันในแต่ละประเภทมากกว่า 40 คนแล้ว ในนโยบายยังจะสามารถนำมาใช้กับนักปั่นดาวรุ่งหรือรุ่นยุวชนที่มีแววโดดเด่น หากสามารถปรับแต่งรถจักรยานแข่งขันของนักกีฬาเหล่านี้ให้ถูกต้องตามหลักการ นอกเหนือจากจะสามารถรีดเอาศักยภาพความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่จากการฝึกซ้อมสร้างทักษะและพื้นฐานที่ถูกต้องแล้ว ยังจะช่วยลดอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากการใช้อุปกรณ์การแข่งขันไม่ถูกต้องกับสรีระของนักกีฬาแต่ละคนได้อีกทางหนึ่ง” พลเอกเดชา กล่าว

นายกสองล้อไทย กล่าวอีกว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ เดินหน้าเรื่องการนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้กับนักกีฬาจักรยานไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจากศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย, คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน สมาคมกีฬาจักรยานฯ ก็พยายามจะขยายเครือข่ายเชื่อมต่อไปยังสถาบันการศึกษา หรือสถาบันด้านวิทยาศาสตร์แขนงอื่น ที่มีความจำเป็นต่อการฝึกซ้อมและแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสรีระวิทยา การพัฒนากล้ามเนื้อ การรักษาอาการบาดเจ็บ กายภาพบำบัด ชีวกลศาสตร์ ไปจนถึงโภชนาการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในเรื่องความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต

“กีฬาจักรยานเป็นกีฬาที่มีองค์ประกอบระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่สุดก็ยังคงเป็นการพัฒนาขีดความสามารถและมาตรฐานของนักกีฬา ในปัจจุบันสมาคมกีฬาจักรยานฯ มีเครือข่ายกว้างขวางเพียงพอในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์แข่งขันที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมาให้นักกีฬาได้ใช้งานอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังต้องพยายามพัฒนาในการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์การกีฬามาปรับใช้ให้ได้ประโยชน์สูงสุด เพื่อต่อยอดความสำเร็จของนักกีฬาไทยในระดับนานาชาติต่อไปในอนาคต” พลเอกเดชา กล่าวเสริม.

ความคิดเห็น

ข่าวฮอตชัดทุกกระแส

วิเคราะห์ เจาะลึก วัตถุมงคลหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน

“ธรรมาภิบาล”เร่งหารือ กกต.ให้จัดการเลือกตั้งใหม่

ฟุตบอลสูงอายุชิงถ้วย ร.10 68 ทีมร่วมฟาดแข้ง

ชมรมทหารพราน ค่ายปักธงชัย แจกข้าวสาร อาหารแห้ง ณ​ ชุมชนชาวคลองลัดภาชี

ราชกรีฑาสโมสรจัดศึกกีฬาม้าแข่งไร้พนันชิงชัยแบบนิวนอร์มัล

ไทย ต้านไม่ไหว พ่ายญี่ปุ่น 0-7

ทนายอนันต์ชัย โพสต์ FB ระบุ